02:43

จังหวัดตราด

" เมืองเกาะครึ่งร้อย พลอยแดงค่าล้ำ ระกำแสนหวาน หลังอานหมาดี ยุทธนาวีเกาะช้าง สุดทางบูรพา "

ข้อมูลทั่วไป จังหวัดตราด

ตราด เป็นจังหวัดชายแดนเล็ก ๆ สุดด้านชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย สันนิษฐานกันว่า ”ตราด” เพี้ยนมาจากคำว่า “กราด” ซึ่งเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ใช้ทำไม้กวาดและรอบเมืองตราดในสมัยก่อน นั้นก็มีต้น “กราด” ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยพระนเรศวรมหาราช “ตราด” มีชื่อในขณะนั้นว่า “บ้านบางพระ”

ใน ร.ศ. 112 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส ยอมยกดินแดนจังหวัดตราดและเกาะช้างทั้งหมดตั้งแต่แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูด รวมทั้งเมืองปัจจันตคีรีเขตร (เกาะกง) ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรี ต่อมาในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 ได้ยอมยกดินแดนเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ รวมทั้งเมืองปัจจันตคีรีเขตรให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกเอาเมืองตราด เกาะต่างๆ ตั้งแต่แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูด กับเมืองด่านซ้ายฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืนมา โดยฝ่ายไทยมีพระยามหาอำมาตยาธิบดี ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระยาศรีเทพตำแหน่งปลัดทูลฉลอง กระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าผู้แทนรัฐบาลไทยฝ่ายฝรั่งเศสมีมองซิเออร์รูซโซเรซิดังเป็น หัวหน้าผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศส ได้กระทำพิธีส่งและรับมอบกัน ณ ศาลากลางจังหวัด และฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกไป เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ชาวจังหวัดตราดได้ถือเอาวันที่ 23 ของทุกปีเป็นวัน “ตราดรำลึก”

วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 ช่วงระหว่างสงครามอินโดจีน เรือรบฝรั่งเศสล่วงล้ำน่านน้ำด้านจังหวัดตราด กองเรือรบราชนาวีไทยได้เข้าขัดขวางเกิดการยิงต่อสู้กัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “ยุทธนาวีที่เกาะช้าง” โดยฝ่ายไทยสามารถขับไล่ข้าศึกให้ล่าถอยไปได้แต่ต้องสูญเสียเรือรบหลวงไป 3 ลำ คือ เรือรบหลวงสงขลา เรือรบหลวงชลบุรี และเรือรบหลวงธนบุรี รวมทั้งทหารอีกจำนวนหนึ่ง ในวันที่ 17 มกราคมของทุกปี กองทัพเรือจึงถือเป็นวันทำบุญประจำปีเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ทหารเรือไทยที่ ได้สละชีวิตในการปฏบัติหน้าที่ เพื่อปกป้องแผ่นดินไทยในครั้งนั้น


ประวัติความเป็นมา :

เมืองตราดสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “กราด” ที่เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ใช้ทำไม้กวาด ต้นไม้ชนิดนี้มีขึ้นอยู่รอบเมืองตราด ซึ่งในสมัยนั้นมีต้นกราดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่พอถึงในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมืองตราดมีชื่อในขณะนั้นว่า “บ้านบางพระ” จังหวัดตราด หรือเมืองทุ่งใหญ่ปรากฏชื่อในทำเนียบหัวเมืองสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2178) ว่าเป็นหัวเมืองชายทะเล สังกัดฝ่ายการต่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านการคลัง ตราดเป็นหนึ่งในเมืองท่าชายทะเล ที่มีชัยภูมิเหมาะกับการแวะจอดเรือ เพื่อขนถ่ายซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า เติมเสบียงอาหาร น้ำจืดบริเวณอ่าวเมืองตราด จึงเป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนพ่อค้าชาวจีนที่เดินทางเข้ามาค้าขาย

ตราดนับเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงปลายอยุธยา สินค้าที่ส่งออกขายยังแดนไกล โดยเฉพาะของป่า เช่น เขากวาง หนังสัตว์ ไม้หอม และเครื่องเทศต่าง ๆ ล้วนมาจากเขตป่าเขาชายฝั่งทะเลตะวันออก แถบระยอง จันทบุรี ตราด โดยลำเลียงสินค้าผ่านมาตามแม่น้ำเขาสมิง ออกสู่ปากอ่าวตราด

เมื่อครั้งสงครามกู้เอกราชสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเลือกตราดเป็นเมืองหน้า ด่านกันชน ทำหน้าที่ส่งเสบียงอาหารก่อนเคลื่อนกองทัพเรือออกจากจันทบุรี

ในสมัยรัชการที่ 1 เมืองตราดยังเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งเช่นเดียวกับในสมัยอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 3 ไทยทำศึกกับเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันท์ซึ่งต่อมาหันไปสวามิภักดิ์กับญวน ไทยกับญวนผิดใจกันจนต้องทำสงครามกันในปี พ.ศ. 2371 ตราดเป็นแหล่งกำลังพล และเสบียงอาหารมีการตั้งป้อมค่ายอยู่ที่บ้านแหลมหิน ปากอ่าวเมืองตราด

สมัยรัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสได้ส่งกองทัพเรือเข้ายึดจันทบุรี ปี ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) และคืนให้ไทยในปี พ.ศ. 2447 โดยแลกกับเมืองตราดตั้งแต่แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูด รวมทั้งเมืองปัจจันตคีรีเขตร (เกาะกง) ต่อมารัฐบาลไทยเห็นว่าตราดมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และพลเมืองส่วนใหญ่เป็นคนไทย ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสจึงยินยอมทำสัญญายกเมืองตราดกับเมืองด่านซ้ายฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (เมื่อหันหน้าไปทางปากแม่น้ำ) คืนให้กับไทยโดยแลกเปลี่ยนกับพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 โดยฝ่ายไทยมีพระยามหาอำมาตยาธิบดี ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระยาศรีเทพตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้า ผู้แทนรัฐบาลไทย ฝ่ายฝรั่งเศสมีเมอซิเออร์รูซโซเรซิดังเป็นหัวหน้าผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสได้ กระทำพิธีส่ง และรับมอบกัน ณ ศาลากลางจังหวัด และฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2450

ในช่วงสงครามอินโดจีน (พ.ศ. 2483-2484) ฝรั่งเศสพยายามเข้ายึดเมืองตราดอีกเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 กองทัพเรือไทยได้เข้าต่อสู้ขัดขวางกองทัพเรือฝรั่งเศสที่ล่วงล้ำน่านน้ำไทย อย่างกล้าหาญ รักษาเมืองยุทธศาสตร์ที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ได้

ปี พ.ศ. 2521 เกิดสงครามสู้รบในกัมพูชา ชาวเขมรนับแสนหนีตายทะลักเข้ามาในเขตไทยทางเทือกเขาบรรทัด เขตพรมแดนด้านตะวันออก เส้นทางหลวงหมายเลข 318 จากตัวเมืองตราดเลียบขนานเทือกเขาบรรทัด และชายฝั่งทะเลสู่อำเภอคลองใหญ่เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สายสำคัญ เมื่อสงครามสงบลงในปี พ.ศ. 2529 เส้นทางสายนี้ได้แปรเปลี่ยนเป็นเส้นทางการค้าระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณตลาดหาดเล็ก สุดเขตชายแดนไทย และเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางต่อไปยังเกาะกง

การขุดพบ “พลอยแดง” หรือ “ทับทิมสยาม” ในเขตอำเภอบ่อไร่เมื่อปี พ.ศ. 2514 ก่อกระแสการตื่นพลอย ผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเข้ามาแสวงโชคที่นี่ความเจริญทุกด้านมุ่งสู่บ่อ ไร่จนกลายเป็นเมืองใหญ่คู่กับตัวเมืองตราด พื้นที่ที่เคยเป็นป่าทึบกลายเป็นหลุมบ่อ เมื่อทรัพย์สินในดินเริ่มหมดไป ในปี พ.ศ. 2534 บ่อไร่กลายเป็นเมืองร้าง เหลือไว้เพียงอาคารร้านค้าซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ จังหวัดตราด อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 315 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 2,819 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดชายแดนทางภาคตะวันออกของประเทศไทย แบ่งการปกครองออกเป็น 5 อำเภอ กับ 2 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเขาสมิง อำเภอแหลมงอบ อำเภอคลองใหญ่ อำเภอบ่อไร่ กิ่งอำเภอเกาะกูด และกิ่งอำเภอเกาะช้าง

จังหวัดตราดแบ่งการปกครองออกเป็น 5 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเขาสมิง อำเภอแหลมงอบ อำเภอคลองใหญ่ อำเภอบ่อไร่ กิ่งอำเภอเกาะช้าง และกิ่งอำเภอเกาะกูด

สภาพภูมิอากาศ :

จากการที่หมู่เกาะช้างเป็นเกาะซึ่งมีทะเลล้อมรอบทำให้อุณหภูมิ บริเวณเกาะช้างเหมาะแก่การพักผ่อน คือ ไม่ร้อนจัด หรือหนาวจนเกินไป สำหรับอิทธิพลจากมรสุมนั้น เกาะช้างได้รับอิทธิพลทั้งจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จากอิทธิพลดังกล่าวทำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทางด้วยเรือบริเวณเกาะช้างคือ ในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ประมาณเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ชายฝั่งด้านตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมจะเป็นคลื่นลมแรง ไม่สามารถเดินทางด้วยเรือได้ หลังเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่มีคลื่นน้อยที่สุด ฉะนั้นการเดินทางไปเกาะช้าง หรือหมู่เกาะต่างๆ ค่อนข้างจะสะดวก พื้นที่บางส่วนของจังหวัดเป็นเกาะอยู่ในทะเลอ่าวไทยโดยส่วนมาก ทำให้ตราดมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวทางทะเลอยู่มากโดยมีเกาะถึง 52 เกาะ

สภาพภูมิอากาศ จังหวัดตราดมีอากาศไม่ร้อนจัด หรือหนาวจนเกินไป แต่มีฝนตกชุกมาก เพราะมีพื้นที่ติดทะเลและภูเขาโอบล้อม จึงทำให้รับอิทธิพลของลมมรสุม แบ่งออกเป็น 3 ฤดู

ฤดูหนาว เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ช่วงเดือนพ.ย.-ก.พ. อากาศไม่หนาวมากนัก อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส

ฤดูร้อน เป็นช่วงระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. อุณหภูมิโดยเฉลี่ยไม่เกิน 34 องศาเซลเซียส

ฤดูฝน เกิดจากอิทธิพลลมมรสุมตัวันตกเฉียงใต้พัดผ่านทะเลอ่าวไทย ในช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค ของทุกปี ทำให้มีฝนตกชุกในเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉลี่ยจะมีปริมาณน้ำฝน 4,000 มม.ต่อปี

อาณาเขต :

ตราด อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 315 กิโลเมตร มีพื้นที่ 2,819 ตารางกิโลเมตร

ทิศเหนือ จดจังหวัดจันทบุรี และราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศใต้ จดอ่าวไทย
ทิศตะวันออก จดราชอาณาจักรกัมพูชา มีทิวเขาบรรทัดเป็น เส้นกั้นเขตแดนตั้งแต่ตอนกลางของจังหวัดลง มาตลอดด้านตะวันออก ระยะทางประมาณ 165 กิโลเมตร
ทิศตะวันตก จดจังหวัดจันทบุรีที่แม่น้ำเวฬุเป็นเส้นกั้นเขตแดน

แผนที่จังหวัดตราด

แผนที่ตัวเมืองตราด

ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอเมือง จังหวัดตราด

• วัดบุปผาราม หรือเรียกอีกชื่อว่า วัดปลายคลอง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ บ้านปลายคลอง ถนนพัฒนาการปลายคลอง ตำบล วังกระแจะ เป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในจังหวัด สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ราวรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๙๑) ท่านพระครูคุณสารพิสุทธิ์ (หลวงพ่อโห) อดีตเจ้าอาวาสในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะถาวรวัตถุในวัด จวบจนปัจจุบันท่านพระครูสุวรรณสารวิบูลพร้อมทั้งชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ และดูแลภูมิทัศน์โดยรอบวัดให้สะอาดเรียบร้อย วัดนี้จึงเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติศาสนกิจ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่
• พิพิธภัณฑ์ เป็น แหล่งรวบรวมโบราณวัตถุอันทรงคุณค่าไว้มากมายโดยเฉพาะพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นมงคลสูงสุดคู่บ้านเมือง มีพระพุทธรูปทองบุเงิน พระพุทธรูปปางต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยยุโรป กลองมโหรทึก แสดงให้เห็นถึงการเดินทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างเมืองท่าชายฝั่งตะวันออก กับเมืองท่าโพ้นทะเลในแถบเอเชียอาคเนย์ข้ามไปไกลถึงซีกโลกตะวันตก พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น.
• ภาพจิตรกรรม ฝาผนังในโบสถ์ และวิหารพระพุทธไสยาสน์เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นฝีมือช่างท้องถิ่น แต่ล้วนแล้วผสมกลมกลืนด้วยศิลปจีน และวรรณคดีจีน แสดงให้เห็นว่าวัดแห่งนี้อาจได้รับการอุปถัมภ์จากชาวจีนที่มาค้าขายแถบชาย ฝั่งทะเลตะวันออก (พ่อค้าชาวจีนอพยพทางเรือมาที่เมืองตราดตั้งแต่สมัยอยุธยา บ้างอพยพจากอยุธยา กรุงเทพฯ เวียดนาม บ้างก็มาจากมาเลเซีย สิงคโปร์)
นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่น่าชมภายในวัด คือ หมู่กุฏิเล็กทรงไทย ที่สร้างได้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติมีขนาดพอแค่ภิกษุอยู่ได้รูปเดียวเท่านั้น คนในท้องถิ่นเมื่อให้ลูกหลานบวชเรียนที่วัดก็จะสร้างกุฏิให้พร้อม เสร็จแล้วช่วยกันหามแห่มาที่วัดในวันทำพิธีบวช หอสวดมนต์ เป็นศาลาไม้ยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องเคลือบชั้นเดียว ชายคาปีกนก หน้าบันไม้จำหลักปิดทองลายเทพนม ฝาประกน เสาไม้แปดเหลี่ยม เจดีย์ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส วิหารฝากระดาน ก่ออิฐ ถือปูน รูปเรือสำเภา เช่นเดียวกับฐานโบสถ์วิหาร สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลังคาชั้นเดียว ฝาผนังไม้ เป็นต้น สอบถาม ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๓๙๕๑ ๒๖๓๖
• การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข ๓ (ถนนสุขุมวิท) ตรงข้ามโรงพยาบาลตราด เลี้ยวแยกซ้ายเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร
• วัดโยธานิมิตร หรือ เรียกอีกชื่อว่า วัดโบสถ์ ตั้งอยู่ที่ถนนเทศบาล ๔ ตรงสามแยกใกล้กับศาลหลักเมือง เป็นวัดหลวงเพียงแห่งเดียวในจังหวัดตราด สร้างขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมารวบรวมไพร่พลที่เมืองตราด หากเสร็จสมบูรณ์ในสมัย รัชกาลที่ ๓ วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของบรรดาข้าราชการตั้งแต่ สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้เปลี่ยนมาทำพิธีที่วัดไผ่ล้อม ในส่วนของพระอุโบสถเป็นศิลปะแบบอยุธยา มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ปัจจุบันกลายเป็นพระวิหาร เรียกว่า วิหารโยธานิมิตร และเป็นที่เก็บโบราณวัตถุ อาทิ หนังสือใบลาน คัมภีร์เทศน์ และรอยพระพุทธบาท พระวิหารนี้ได้รับการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยซ่อมแซมหลังคา เสา ประตู หน้าต่าง ฝาผนังภายนอกที่ชำรุด แต่ยังคงรักษารูปทรงเดิมไว้
• ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ตั้งอยู่บนถนนหลักเมือง ใกล้วัดโยธานิมิตร ศาลนี้มีลักษณะแปลกจากศาลหลักเมืองอื่น ๆ คือ ตัวอาคารก่อสร้างในลักษณะเป็นเก๋งจีน เมื่อครั้งมารวบรวมรี้พลกอบกู้เอกราชที่ตราด สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามความเชื่อแบบจีนเพื่อให้ปกป้องคุ้มครองเมืองตราดให้รอดพ้นจากอันตราย ชาวเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ศาลหลักเมืองเป็นดั่งศูนย์กลางเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน ในวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี มีงานฉลองที่เรียกว่า “วันงานพลีเมือง” หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “วันเซี่ยกงแซยิด” หมายถึง วันเกิดเจ้าพ่อหลักเมืองมีพิธีทำบุญตักบาตรแบบไทย และมีงานประจำปีศาลปุงเถ้าม้าแบบจีน ช่วงก่อน และหลังตรุษจีน ๑ เดือน
มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อฝรั่งเศสยึดเมืองตราดนั้นสังเกตเห็นชาวเมืองตราดพากันไปไหว้เจ้าพ่อหลักเมืองอยู่เป็นประจำ
จึงจะถอนเสาหลักเมืองทิ้งโดยให้คนไปขุดแต่ถอนเสาหลักเมืองไม่ขึ้น ครั้นเอาช้างมาดึงเสาหลักเมืองก็ไม่ล้มเพียงแต่เอนไปเล็กน้อย ซึ่งต่อมาชาวเมืองตราดได้บูรณะให้คงสภาพดี
• วัดไผ่ล้อม ตั้ง อยู่ที่ถนนหลักเมือง เป็นวัดที่มีบทบาทสำคัญที่สุดต่อการศึกษาของจังหวัดตราด โดยวัดแห่งนี้เคยเป็นที่พำนักของบิดาแห่งการศึกษาจังหวัดตราด คือท่านเจ้าคุณพระวิมลเมธาจารย์ วรญาณนุรักษ์ สังฆปราโมก ภายในบริเวณวัดยังมีสวนพุทธธรรมสำหรับให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม และมีเจดีย์พิพิธภัณฑ์สามท่านเจ้าคุณ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของคนในจังหวัดตราด นอกจากนี้ยังเป็นที่พึ่งของชาวบ้านมาทุกยุคสมัยที่มีการพัฒนาอย่างสอดคล้อง กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม สำหรับสภาพแวดล้อมภายในคือ วัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดของภิกษุ สามเณรควรแก่การเคารพศรัทธา นอกจากนั้นยังยึดมั่นแนวทางแห่งความกตัญญู ซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงในการดำรงชีวิตของพุทธศาสนิกชน
• โบราณสถานจวนเรสิดังกัมปอร์ต ตั้งอยู่ที่ถนนหลักเมือง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ๓ ชั้น หลังคาทรงปั้นหยาลดชั้น เคยใช้เป็นที่พำนักของข้าหลวงฝรั่งเศส ผู้ได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ปกครองจังหวัดตราด ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๖๔ ได้กลายเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๔๗๑ ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้เป็นสำนักงานคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ แต่ยังคงรูปแบบและปฏิมากรรมเดิมไว้ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ในวันและเวลาราชการ
• แหลมศอก จากถนนสายตราด-แหลมงอบ ไปประมาณ ๓ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปบริเวณแหลมศอก ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๑๕๕ ระยะทาง ๒๔ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของศาลกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระราชบิดาแห่งราชนาวีไทย และเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดตราด ที่บริเวณแหลมศอกมีหาดทรายแดงอยู่ในบริเวณใกล้เคียง จุดเด่นของแหลมศอกคือ ช่วงที่พระอาทิตย์ตกสวยงามมาก และมีหมู่บ้านชาวประมงที่น่าไปเยือน คือ หมู่บ้านแหลมหิน และหมู่บ้านอ่าวช่อ
• วัดคีรีวิหาร เดิมชื่อว่า วัดท่าเลื่อน หรือวัดภูเขายวน ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเลื่อน เป็นวัดเก่าแก่มีอายุมากกว่า ๑๑๐ ปี แต่ได้รับการบูรณะจนดูใหม่ทั้งวัด ที่ตั้งอยู่บนภูเขาทำให้มองเห็นวิวทิวทัศน์ด้านล่างที่เป็นป่า เขา และทะเล มีบรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ เป็นสวนป่าขนาดย่อม ๆ มีต้นสักปลูกอย่างเป็นระเบียบ ลักษณะเด่นของวัด คือ การก่อสร้างด้านสถาปัตยกรรมที่มีความงดงาม และมีการผสมผสานศิลปกรรมสมัยใหม่เข้าไว้ด้วย
ศาสนสถานที่สำคัญภายในบริเวณวัดประกอบด้วย อุโบสถหลังใหญ่ พระเจดีย์ เรือนรับรองสมเด็จพระเทพฯ กุฏิธรรมสารอุทิศ และกุฏินิรมิตสามัคคี ศาลาการเปรียญ วิหารจีนที่ประดิษฐานพระพุทธอุดมสมบูรณ์ พระอวโลกิเตศวร และพระสังกัจจายน์
• การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามทางหลวง ๓๑๘ สายตราด-คลองใหญ่-บ้านหาดเล็ก ไปประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
• หาดลานทราย เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมีบรรยากาศที่เงียบสงบนักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนกัน การเดินทาง แยกขวาตามเส้นทางไปคลองใหญ่ ทางหลวงหมายเลข ๓๑๘ ถนนตราด-คลองใหญ่ ตำบลแหลมกลัด เข้าไปประมาณ ๑๑ กิโลเมตร และเลี้ยวเข้าทางหลวง ๓๒๙๒ บริเวณหาดมีที่พักไว้บริการนักท่องเที่ยวเพียงแห่งเดียว ได้แก่ หาดลานทราย รีสอร์ท
• แหลมกลัด เป็นชายหาดที่มีลักษณะเป็นแหลมยื่นลงไปในทะเล มีเม็ดทรายขาวละเอียด บริเวณหน้าหาดน้ำไม่ลึกมาก สามารถลงเล่นน้ำได้ บรรยากาศเงียบสงบ เหมาะแก่การพักผ่อน จากแหลมกลัดสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของแหลมศอก เกาะไม้ซี้ เกาะกระดาดและเกาะหมากได้ การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๑๘ แล้วเลี้ยวขวาเข้าบ้านแหลมกลัด
• วัดสะพานหิน ตั้งอยู่หลักกิโลเมตรที่ ๓๑-๓๒ ถนนตราด-คลองใหญ่ ทางหลวงหมายเลข ๓๑๘ ตามเส้นทางไปคลองใหญ่ มีทางแยกทางซ้ายมือจากถนนเข้าสู่วัด วัดนี้ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี กลางสระน้ำมีโบสถ์เก่าแก่ อยู่ห่างจากวัดประมาณ ๑ กิโลเมตร มีแนวหินเชื่อมสองฝั่งคลองใช้เป็นเส้นทางคมนาคม

ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอคลองใหญ่ : อำเภาเขาสมิง จังหวัดตราด

อำเภอคลองใหญ่
หาดทรายงาม เป็นหาดทรายขาวละเอียด มีความยาวประมาณ ๒๐๐ เมตร ขนานไปกับทิวสนทะเล การเดินทาง ใช้เส้นทางเข้าทางเดียวกับแหลมกลัด บริเวณกิโลเมตรที่ ๓๗ และการเดินทางไปชายหาดจะต้องเดินข้ามสะพานไม้เล็ก ๆ ยาวประมาณ ๑๕ เมตร จึงถึงชายหาด
หาดทรายเงิน บริเวณหาดเป็นป่าสน มีชายหาดที่ไม่กว้างมากนักจึงไม่เหมาะแก่การลงเล่นน้ำ แต่เหมาะที่จะพักผ่อนเพื่อชมทิวทัศน์ หรือตกปลา จากหาดทรายเงินสามารถที่จะเดินเลียบหาดไปถึงหาดมุกแก้วได้ การเดินทาง หาดทรายเงิน อยู่ประมาณกิโลเมตรที่ ๔๑ ที่อยู่ถัดจากหาดทรายงาม
หาดมุกแก้ว และ หาดทรายแก้ว มีบรรยากาศที่เงียบสงบเหมาะแก่การพักผ่อน ชายหาดมุกแก้วเป็นหาดทรายขาวที่ยาวต่อเนื่องกันตลอดเริ่มจากหาดทรายเงินไปจนถึงหาดทรายแก้วตลอดชายหาดมีทิวสน และ ต้นมะพร้าวที่ขนานไปกับชายหาด ที่บริเวณหาดมุกแก้วสามารถชมพระอาทิตย์ตกได้
ศูนย์ราชการุณย์ สภากาชาดไทย เขาล้าน เดิมชื่อว่า ศูนย์สภากาชาดไทย เขาล้าน ตั้งอยู่ถนนตราด-คลองใหญ่ กิโลเมตรที่ ๔๘ ริมทางหลวงหมายเลข ๓๑๘ ในอดีตสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นศูนย์สภากาชาดไทยเขาล้าน เพื่อช่วยเหลือชาวเขมรอพยพ จนเมื่อชาวเขมรอพยพแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา ศูนย์นี้จึงปิดไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทยเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา จึงได้จัดสร้างศาลาราชการุณย์ เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย (เปิดเวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๐๐ น.) ภายในศาลาราชการุณย์ประกอบไปด้วยนิทรรศการพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนาง เจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นอกจากนั้นยังมีหุ่นจำลองชาวเขมรอพยพในขณะทำภารกิจประจำวัน เช่น หุงหาอาหาร เย็บปักถักร้อย เป็นต้น สวนไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด ๗๖ จังหวัด สวนสมุนไพร พระพุทธรูปแบบสุโขทัย ปางมารวิชัย สร้างขึ้นตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อยึดเหนี่ยว และเป็นที่พึ่งทางใจแก่ผู้ที่อพยพชาวกัมพูชาที่หนีภัยสงคราม และเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดตราด และจังหวัดใกล้เคียง ส่วนด้านหลังเป็นหาดทรายบรรยากาศเงียบสงบ ทางศูนย์ฯ มีที่พักไว้รองรับสำหรับผู้ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๓๙๕๒ ๑๖๒๑, ๐ ๓๙๕๒ ๑๖๒๔, ๐ ๓๙๕๒ ๑๘๓๘ โทรสาร ๐ ๓๙๕๒ ๑๖๒๑ www.redcross.or.th/khaolan E-mail : khaolan@tr.ksc.co.th
หาดไม้รูด เรียกอีกชื่อว่า หาดสำราญ แยกขวาจากทางหลวงหมายเลข ๓๑ ตรงกิโลเมตรที่ ๕๗–๕๘ เข้าไปทางบ้านไม้รูด ๕ กิโลเมตร ไปสุดที่สะพานคอนกรีตทางลงหาดอยู่หน้าศาลาประชาคม และเดินต่อไปอีก ๒๐๐ เมตร บริเวณหาดมีบังกะโลให้เช่าอยู่แห่งเดียว
หาดบานชื่น เดิมชื่อ หาดมะโร ตั้งอยู่ก่อนถึงอำเภอคลองใหญ่ เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๑๘ ระหว่างกิโลเมตรที่ ๕๙-๖๐ มีทางแยกขวามือเข้าไปอีก ๓ กิโลเมตร เป็นหาดที่มีทรายเม็ดละเอียดน้ำใสสะอาด สามารถลงเล่นน้ำได้ มีบังกะโลให้เช่าบริเวณชายหาด
ส่วนที่แคบที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนเส้นทางสายตราด-คลองใหญ่ หมู่ที่ ๒ บ้านโขดทราย ตำบลหาดเล็ก บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๘๑–๘๒ ส่วนที่แคบที่สุดมีความกว้างเพียง ๔๕๐ เมตร เท่านั้น
ตลาดชายแดนบ้านหาดเล็ก ตั้ง อยู่บ้านหาดเล็ก ตำบลหาดเล็ก เป็นหมู่บ้านสุดชายแดนติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา อยู่ปลายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑ เมื่อสงครามสู้รบในกัมพูชาสิ้นสุดลงราวปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ตลาดแห่งนี้นับเป็นแหล่งรับซื้อพืชพันธุ์ธัญญาหารของชาวกัมพูชาเพื่อไปขาย ต่อที่เกาะกง ตลาดที่บ้านหาดเล็กจะมีเฉพาะในช่วงเช้า เวลาประมาณ ๐๗.๐๐– ๐๘.๓๐ น. และยังมีสินค้าราคาถูกที่มาจากประเทศกัมพูชา เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า แว่นตา น้ำหอม เป็นต้น จากจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยนั่งรถแท็กซี่จากชายแดนบริเวณบ้าน หาดเล็กฝั่งประเทศกัมพูชาเพื่อที่จะไปเกาะกงได้ อัตราราคาค่าโดยสารแล้วแต่จะตกลงกัน
การเดินทาง ไปบ้านหาดเล็กมีรถตู้บริการนักท่องเที่ยวที่ตัวเมืองตราดไปหาดเล็กทุกวัน รถออกทุก ๆ ชั่วโมง อัตราค่าโดยสาร ๑๐๐ บาท ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่ง และนักท่องเที่ยวสามารถที่จะเดินทางต่อจากบริเวณด่านถาวร บ้านหาดเล็กข้ามไปนั่งรถแท็กซี่ของฝั่งประเทศกัมพูชาข้ามสะพานไปยังเกาะกงได้ ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ ๔๕ นาที สำหรับประชาชน ชาวไทย ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ของอำเภอคลองใหญ่ สามารถทำบัตรผ่านแดนชั่วคราวได้ที่ ที่ว่าการอำเภอคลองใหญ่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการเดินทางได้ที่ ที่ทำการอำเภอคลองใหญ่ โทร. ๐ ๓๙๕๓ ๔๕๗๒ หรือที่สำนักงานจังหวัดตราด ฝ่ายข้อมูล โทร. ๐ ๓๙๕๑ ๒๐๘๑
หมายเหตุ สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ต้องการเดินทางข้ามไปกัมพูชาควรนำบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง และ วีซ่า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมก่อนเดินทางได้ที่ จุดตรวจชายแดนบ้านหาดเล็ก โทร. ๐ ๓๙๕๘ ๘๐๘๔
สำหรับนักท่องเที่ยว ชาวต่างประเทศ ที่ต้องการเดินทางข้ามไปประเทศกัมพูชาต้องนำหนังสือเดินทาง (PASSPORT) วีซ่า มาแสดงที่จุดตรวจชายแดนบ้านหาดเล็ก โทร. ๐ ๓๙๕๘ ๘๐๘๔ หรือที่สถานทูตกัมพูชา กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๒๕๓ ๗๙๖๗, ๐ ๒๒๕๔ ๖๖๓๐

อำเภอเขาสมิง
วัดเมืองเก่าแสนตุ่ม และโบราณสถานเขาโต๊ะโมะ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ บ้านอีเร็ม ตำบลประณีต อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเขาสมิงประมาณ ๓๘ กิโลเมตร วัดนี้เป็นวัดที่มีความร่มรื่น ล้อมรอบด้วยธรรมชาติ เหมาะแก่การพักผ่อน และการปฏิบัติธรรม
ส่วนบริเวณวัดด้านทิศใต้เป็นที่ตั้งโบราณสถานเขาโต๊ะโมะ ที่คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยก่อนพุทธกาล มีความเชื่อว่าใต้พื้นบริเวณโบราณสถานมีสมบัติเป็นแสนตุ่ม อันเป็นที่มาของชื่อวัดแสนตุ่ม โบราณสถานเขาโต๊ะโมะ มีลักษณะเป็นเนินดิน มีต้นไม้ปกคลุม มีแท่งหินวางอยู่เรียงราย หินเหล่านี้มีสีน้ำตาลเข้ม เป็นรูปเหลี่ยมตั้งแต่สี่เหลี่ยมถึงเก้าเหลี่ยม ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ถึง ๑๕๐ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ถึง ๒๐ เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ ๑๐ กิโลกรัมถึง ๑๐๐ กิโลกรัม การวางเรียงซ้อนของหินคล้ายเทวสถาน หินบางก้อนเมื่อเคาะจะมีเสียงดังกังวานเหมือนเคาะระฆัง
การเดินทาง เริ่มจากทางแยกแสนตุ้งใช้เส้นทางหมายเลข ๓๑๕๗ แสนตุ้ง-บ่อไร่ ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๑๘.๕ จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายไปบ้านตาพลาย เส้นทางหมายเลข ๓๑๕๘ อีกประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายบ้านนามะขาม บ้าน อีเร็ม ระยะทาง ๙ กิโลเมตร

ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอบ่อไร่ : อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด

อำเภอบ่อไร่
ตลาดพลอย ที่ผ่านมาตลาดพลอยในอำเภอบ่อไร่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตพลอยแดง หรือทับทิมสยาม ตลาดพลอยที่ น่าสนใจ ได้แก่ ตลาดพลอยหัวทุ่ง ตลาดพลอยบ้านสระใหญ่ ตลาดพลอยหนองบอน ฯลฯ โดยในแต่ละวันตลาดพลอยแต่ละแห่ง จะเริ่มเปิดให้มีการซื้อขายในช่วงเช้าตรู่จนถึงเวลา ๑๐.๐๐ น.
ปัจจุบันตลาดพลอยในเขตอำเภอบ่อไร่ประสบปัญหาในเรื่องหาแหล่งพลอยได้ยาก จึงทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับการค้าขายพลอยซบเซาลง ถ้านักท่องเที่ยวที่สนใจจะไปซื้อพลอย หรือชมสภาพโดยทั่ว ๆ ไปของตลาดพลอยนั้น ยังพอมีเหลือให้ชม และซื้ออยู่บ้าง
น้ำตกเขาสลัดได ไปตามถนนสายจินตกานนท์ (แสนตุ้ง-บ่อไร่) ประมาณกิโลเมตรที่ ๒๕ มีทางแยกซ้ายไปน้ำตกเขาสลัดได ระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร บริเวณรอบ ๆ น้ำตก มีป่าเขา และธรรมชาติสวยงามเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๖๕,๕๒๕ ไร่ ภายในอุทยานฯ มีสถานที่น่าสนใจ ได้แก่ น้ำตกคลองแก้ว มีทั้งหมด ๗ ชั้น ในแต่ละชั้นมีความสวยงามแตกต่างกันออกไป มีลำธารน้ำไหลผ่านจากชั้นบนลงมาสู่ชั้นล่างตลอดสายโดยเฉพาะชั้นที่ ๔ สามารถมองเห็นทัศนียภาพของบ่อไร่ นักท่องเที่ยวโดยส่วนใหญ่นิยมเที่ยวกันเพียง ๔ ชั้นเท่านั้น หากต้องการเที่ยวให้ครบทุกชั้นต้องใช้เวลานานร่วมวัน นอกจากนั้นยังมี น้ำตกสลัดได น้ำตกคลองใจ และ ผาลานหิน
สถานที่พัก ทางอุทยานฯ ไม่มีบริการบ้านพัก แต่นักท่องเที่ยวสามารถนำเต็นท์ไปกางได้ ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว หมู่ ๒ ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ๒๓๑๔๐
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ไปตามถนนสุขุมวิท ทางหลวงหมายเลข ๓ ถึงตลาดแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๑๕๗ สายแสนตุ้ง-บ่อไร่ ไปประมาณ ๓๓ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายผ่านตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๑๖ ไปอีก ๘ กิโลเมตร ถึงน้ำตกคลองแก้ว

อำเภอแหลมงอบ
แหลมงอบ เป็นอำเภอเลียบชายหาดอำเภอหนึ่งของจังหวัดตราด อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๑๔๘ สายตราด-แหลมงอบ ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร ที่อำเภอแหลมงอบมีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ ชื่อว่า ท่าเรือแหลมงอบ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแหลมงอบประมาณ ๕๐๐ เมตร นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือโดยสารประจำทาง หรือเช่าเรือไปเที่ยวเกาะต่าง ๆ ได้ เช่น เกาะช้าง เกาะกระดาด เกาะกูด เกาะแรด ฯลฯ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งร้านขายของที่ระลึก และอาหารทะเล กะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง รวมทั้งงอบแบบต่าง ๆ ด้วย
บ้านน้ำเชี่ยว อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปตามเส้นทางสายตราด-แหลมงอบ ประมาณ ๘ กิโลเมตร มีชื่อเสียงในการทำงอบ เรียกว่า “งอบน้ำเชี่ยว” เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของจังหวัดตราดที่สืบทอดมาแต่โบราณ นอกจากการทำงอบแล้วที่บ้านน้ำเชี่ยวยังมีผลิตผลจากการประมง เช่น กะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง ฯลฯ ไว้จำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวด้วย
อนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้าง จัดสร้างขึ้นบริเวณชายทะเลแหลมงอบ มีอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผันพระพักตร์ไปยังบริเวณยุทธนาวีเกาะช้าง มีการจัดบริเวณ และอาคารพิพิธภัณฑ์คล้ายเรือรบ ด้านในพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงข้อมูลประวัติศาสตร์ของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ประวัติการสู้รบของกองทัพเรือไทยกับกองกำลังเรือรบของฝรั่งเศส รอบ ๆ บริเวณอนุสรณ์สถานได้จัดเป็นสวนสำหรับพักผ่อน และจะมีงานฉลองเพื่อระลึกถึงการทำยุทธนาวีของกองทัพเรือไทย ระหว่างวันที่ ๑๗-๒๑ มกราคม ของทุกปี
เกาะปุย เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้ฝั่ง เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเหมาะที่จะพักผ่อน แวดล้อมด้วยธรรมชาติงดงาม บรรยากาศร่มรื่น การเดินทาง สะดวกปลอดภัยทุกฤดูกาล บนเกาะมีสวนมะพร้าว สมุนไพรนานาชนิด และบ่อดินสอพองที่ได้รับการกล่าวถึง เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสตราด หาดที่เกาะปุยมีลักษณะเป็นเลนปนทราย จึงไม่เหมาะสำหรับว่ายน้ำ แต่เหมาะสำหรับผู้ที่รักสงบ และต้องการพักผ่อนเงียบ ๆ การเดินทาง ควรไปเช่าเรือจากท่าเรือแหลมงอบ หากมี รถไปเองควรไปขึ้นเรือที่แหลมอวน โดยใช้เส้นทางตราด-แหลมงอบ ๑๕ กิโลเมตร จะมีปั๊มน้ำมัน ปตท. อยู่ทางขวามือแล้วมีทางแยกเข้าทางลูกรังประมาณ ๕ กิโลเมตร มีป้ายบอกชื่อแหลมอวนอยู่ทางซ้ายเข้าไป ๕๐๐ เมตร สามารถหาเรือข้ามฟากไปยังเกาะปุย และมีบริการรับฝากรถ ค่าเช่าเรือไป-กลับ แหลมอวน-เกาะปุย ในราคาเหมาลำประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ใช้เวลาในการเดินทาง ๑๐ นาที
อ่าวตาลคู่ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางปิด ห่างจากอำเภอแหลมงอบประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๑๕๖ เลยทางแยกแหลมงอบ-บ้านแสนตุ้งประมาณ ๘ กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีก ๔ กิโลเมตร ชายหาดอ่าวตาลคู่มีลักษณะเด่น คือ หาดทรายละเอียด น้ำทะเลใส สามารถลงเล่นน้ำได้ เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนเพราะมีความสวยงามอากาศดี และในบริเวณมีร้านอาหาร ชาวจังหวัดตราดนิยมไปพักผ่อนในช่วงวันหยุด

ข้อมูลท่องเที่ยว กิ่งอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด

กิ่งอำเภอเกาะช้าง
หมู่เกาะช้างเป็นเกาะที่มีทะเลล้อมรอบทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยบริเวณเกาะ ช้างเหมาะแก่การพักผ่อนคือไม่ร้อนจัด หรือหนาวจนเกินไป สำหรับอิทธิพลจากมรสุมนั้น เกาะช้างได้รับอิทธิพลทั้งจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จากอิทธิพลดังกล่าวทำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทางด้วยเรือคือ ในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ประมาณเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ชายฝั่งด้านตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมจะมีคลื่นลมแรงไม่เหมาะสมที่จะเดินทาง ได้ ประมาณเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคมเป็นช่วงที่มีคลื่นน้อยที่สุด ฉะนั้นการเดินทางไปเกาะช้าง หรือหมู่เกาะต่าง ๆ จึงค่อนข้างที่จะสะดวก
• อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๖๕๐ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ ที่มากถึง ๕๒ เกาะ เรียงรายตั้งแต่เขตอำเภอแหลมงอบ อำเภอเมือง และอำเภอคลองใหญ่ เกาะที่สำคัญที่สุด คือ เกาะช้าง นอกจากนี้ยังมีเกาะอื่น ๆ ที่ยังคงสภาพความสวยงามตามธรรมชาติได้แก่ เกาะคลุ้ม เกาะเหลายาใน เกาะง่าม เกาะไม้ซี้ใหญ่ เกาะหวาย เกาะรัง ฯลฯ ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะช้างใกล้คลองธารมะยมบบริเวณด้านหน้ามีท่า เทียบเรือขนาดใหญ่ของอุทยานฯ นอกจากนี้ยังมีหน่วยพิทักษ์อุทยานอีก ๓ จุด ซึ่งล้วนอยู่บนเกาะช้าง คือ บริเวณอ่าวคลองสน บริเวณทางเข้าน้ำตกคลองพลู และบริเวณหมู่บ้านสลักเพชร
• เกาะช้าง เดิมเป็นเกาะที่ไม่มีชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัย หากมีความสำคัญในฐานะที่เป็นท่าจอดเรือหลบลมมรสุม เป็นแหล่งเสบียงอาหาร และน้ำจืดโดยเฉพาะบริเวณอ่าวสลักเพชร หรืออ่าวสลัด เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่โจรสลัด ชาวจีนไหหลำ และญวน ปัจจุบันบนเกาะช้างมีประชาชนอาศัยอยู่ ๘ หมู่บ้าน
เกาะช้างเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของประเทศรองจากเกาะภูเก็ต มีเนื้อที่ประมาณ ๔๒๙ ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเขาสูงมีผาหินสลับซับซ้อนยอดเขาที่สูงที่สุด ได้แก่ เขาสลักเพชร มีความสูง ๗๔๔ เมตร สภาพป่าโดยทั่วไปอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขา อันเป็นบ่อเกิดของต้นน้ำลำธาร ทำให้มีน้ำตกหลายแห่งบนเกาะ ชายหาด และปะการังที่สวยงามอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะ
• สถานที่น่าสนใจบนเกาะ ได้แก่
• บริเวณยุทธนาวีเกาะช้าง อยู่ทางตอนใต้ของเกาะช้าง น่านน้ำทะเลตราดบริเวณอ่าวสลักเพชร อ่าวสลักคอก ยังเป็นอีกหน้าหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อปกป้องอธิปไตยของไทย เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ กองทัพเรือไทยสามารถขับไล่ผู้รุกรานให้ล่าถอยไปได้ หากไทยต้องสูญเสียกองเรือ และทหารกล้าไปจำนวนหนึ่ง วีรกรรมทหารเรือไทยได้รับการจดจารึก และรำลึกถึงวันที่ ๑๗ มกราคมของทุกปี ณ อนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้าง อำเภอแหลมงอบ เกาะง่ามกลายเป็นจุดปะทะจุดแรกระหว่างกองทัพเรือไทยกับฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินเข้ามาลาดตระเวน และทิ้งระเบิดบนเกาะนี้ ส่วนเกาะหวายคือ จุดที่เครื่องบินลาดตระเวนของฝรั่งเศสถูกเรือรบหลวงสงขลา และเรือรบหลวงชลบุรี ยิงตก กองกำลังเรือรบของฝรั่งเศส ๗ ลำรุกล้ำเข้ามาทางด้านใต้ของเกาะช้าง นำโดยเรือลาดตระเวนลามอตต์ ปิเกต์ เรือสลุบ ๒ ลำ เรือปืน ๔ ลำ แยกออกเป็น ๓ หมู่ หมู่ ๑ มีเรือลามอตต์ ปิเกต์ลำเดียวรุกล้ำเข้ามาทางด้านใต้ของเกาะหวาย และเกาะใบตั้ง หมู่ ๒ มีเรือสลุป ๑ ลำ เรือปืน ๑ ลำ เข้ามาทางช่องด้านใต้ระหว่างเกาะคลุ้มกับเกาะหวาย หมู่ ๓ มีเรือสลุป ๑ ลำ เรือปืน ๓ ลำ เข้ามาทางช่องด้านใต้ระหว่างเกาะคลุ้มกับแหลมบางเบ้า
• เกาะไม้ซี้ เกาะส่วนตัวเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเกาะกูดซึ่งยังคงธรรมชาติอันสมบูรณ์ หาดทรายสวย น้ำใส อุดมด้วยพันธุ์ปลานานาชนิด สามารถดำน้ำดูปะการังได้ บนเกาะมีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ให้ศึกษา แต่เดิมเกาะนี้เป็นเขตปะทะระหว่างเรือลามอตต์ ปิเกต์กับเรือรบหลวงธนบุรีที่จอดประจำการอยู่ที่เกาะลิ่ม และได้เข้ามาช่วยเหลือเรือรบหลวงสงขลา และเรือรบหลวงชลบุรีที่ถูกยิงเสียหายจนจมสู่ท้องทะเลบริเวณอ่าวสลักเพชร และอ่าวสลักคอก ในที่สุดเรือรบหลวงธนบุรีถูกยิงเสียหายอย่างหนัก จนแล่นมาเกยตื้น และจมลงบริเวณแหลมงอบ นอกจากนั้นยังมีสถานที่พักอาศัยกึ่งโฮมสเตย์ สามารถรับนักท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะตั้งแต่ ๑๕–๓๐ คน แพ็กเกจทัวร์ ๓ วัน ๒ คืน ราคา ๓,๕๐๐ บาท, ๒ วัน ๑ คืน ราคา ๒,๕๐๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๗๕๐ ๖๘๗๓, ๐ ๙๙๘๐ ๕๗๕๗
• อ่าวคลองสน เป็นอ่าวอยู่ทางเหนือสุดของเกาะฝั่งตะวันตก เป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านคลองสน ใกล้บริเวณอ่าวมีแนวปะการังใต้น้ำที่สวยงาม มีบริการที่พักไว้สำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
• น้ำตกคลองนนทรี เป็นน้ำตกขนาดเล็ก อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะมีทางเดินเท้าจากบ้านด่านใหม่ตามทางเดินเท้า ๓ กิโลเมตร หรือจากที่ทำการอุทยานฯ เป็นระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร
• น้ำตกธารมะยม อยู่หลังที่ทำการอุทยานฯ เดินผ่านสวนเข้าไปประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง มี ๔ ชั้น ชั้นที่ ๓ เป็นชั้นที่สวยที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และ รัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เคยเสด็จประพาสมายังน้ำตกนี้ โดยมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร. สลักอยู่ที่หน้าผาน้ำตกชั้นบน
• น้ำตกคลองพลู เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงามที่สุดของเกาะช้าง มีน้ำตกไหลผ่านหน้าผาลงแอ่งเบื้องล่าง น้ำตกมี ๓ ชั้น ทางเข้าอยู่ห่างจากอ่าวคลองพร้าว ๓ กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินป่าอีกประมาณ ๒๐ นาที
• หาดทรายยาว อยู่ทางตอนใต้ของเกาะช้างใกล้กับอ่าวสลักเพชร มีลักษณะเป็นอ่าวที่มีหาดทรายทอดยาว เล่นน้ำได้ สามารถเดินป่าชมจุดยุทธนาวีที่เกาะช้าง และชมทัศนียภาพตามหมู่เกาะใกล้เคียง เช่น เกาะเหลายา อ่าวสลักเพชร เกาะหวาย ที่หาดทรายขาวมีบริการที่พักไว้สำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
• โรงเรียนฝึกสอนลิง ตั้งอยู่ที่หมู่ ๔ หาดทรายขาว ตำบลเกาะช้าง เป็นศูนย์ฝึกสอนลิง และโชว์ความสามารถโดยเฉพาะการเก็บมะพร้าว มีการแสดงวันละ ๓ รอบ เวลา ๑๐.๐๐ น., ๑๔.๐๐ น., ๑๖.๐๐ น. อัตราค่าเข้าชม ๒๐๐ บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. ๐ ๑๙๘๒ ๘๖๖๑, ๐ ๖๕๓๑ ๓๓๙๘
• บ้านสลักเพชร เป็นชุมชนที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดบนเกาะช้าง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะ ชาวบ้านประกอบอาชีพทำการประมงชายฝั่ง มีหมู่เกาะและทิวเขาโอบล้อมช่วยกำบังคลื่นลมได้ดี หน้าหมู่บ้านมีวัดเก่าแก่ คือ วัดสลักเพชร สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเกาะช้าง และอ่าวสลักเพชรเป็นอ่าวใหญ่ที่สุดบนเกาะ
• น้ำตกคีรีเพชร เป็นน้ำตกชั้นเดียว อยู่ห่างจากชุมชนบ้านสลักเพชรผ่านสวนยางเป็นระยะทาง ๓ กิโลเมตร
• น้ำตกคลองหนึ่ง เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ใกล้น้ำตกคีรีเพชร-บ้านโรงถ่าน อยู่ลึกเข้าไปจากชุมชนสลักเพชร เข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร แล้วเดินเท้าอีกประมาณ ๔๘๐ เมตร ตัวน้ำตกไหลทิ้งตัวลงมาจากช่องเขาแคบ ๆ ที่มีความสูง ๑๒๐ เมตร สามารถลงเล่นน้ำได้
• หมู่บ้านประมงบางเบ้า บ้านแต่ละหลังปักเสาลงในทะเล มีสะพานเชื่อมต่อถึงกัน บรรพบุรุษของคนที่นี่ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากชาวสลักเพชร ดำรงชีวิตเรียบง่ายด้วยการทำประมงขนาดเล็กชายฝั่ง เป็นแหล่งปลาหมึกหอมชุกชุม มีแหล่งปะการังใต้น้ำ บริเวณหมู่บ้านมีท่าเรือ สะพานปลา ทำกะปิน้ำปลา กุ้งแห้ง ปลาเค็ม อ่าวบางเบ้ามีชัยภูมิที่ตั้งเหมาะแก่การจอดเรือ หลบคลื่นลมเพราะมีเทือกเขา และหมู่เกาะโอบล้อมสองด้านในฤดูมรสุม จึงมีเรือมากมายเข้ามาจอดหลบคลื่นลมในอ่าวนี้
• บ้านโรงถ่าน เป็นชุมชนเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวสลักเพชร อยู่ทางตอนใต้ของเกาะ นักท่องเที่ยวนิยมไปชมทิวทัศน์กันที่นี่ เมื่อมองไปทางเหนือจะเห็นยอดเขาสลักเพชรมีเมฆหมอกปกคลุม ทางตะวันออกจะเห็นเกาะมะพร้าวในและทิวเขาบริเวณแหลมใหญ่ หากเดินขึ้นเนินเขาไปสำนักสงฆ์อตุลาภรณ์บรรพตจะมองเห็นทิวทัศน์ของอ่าวสลักเพชรทั้งหมด
• อ่าวใบลาน อยู่ ถัดขึ้นไปจากหาดไก่แบ้มีทางเท้าตัดผ่านภูเขาใช้เวลาเดินเท้าจากหาดไก่แบ้ ประมาณ ๑ ชั่วโมง ระหว่างทางสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของทิวเขา อ่าวใบลานมีลักษณะเป็นหาดทรายยาวเงียบสงบเหมาะแก่การเล่นน้ำและพักผ่อน
• หาดไก่แบ้ เป็นหาดที่มีความยาวติดต่อกับหาดคลองพร้าว เป็นหาดทรายที่มีความลาดพอสมควร สามารถเล่นน้ำได้โดยไม่เป็นอันตราย มีบังกะโลราคาประหยัดให้เช่าหลายแห่ง บางแห่งมีจักรยานเสือภูเขาให้เช่า
• หาดคลองพร้าว-แหลมไชยเชษฐ์ เป็นหาดทรายที่มีความยาวต่อเนื่องไปจนถึงหาดไก่แบ้ หาดทรายบริเวณนี้มีความลาดมาก สามารถเล่นน้ำได้ มีบังกะโลให้เช่าพักหลายแห่ง ห้องพักที่ได้มาตรฐาน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม ตอนเหนือสุดของอ่าวคลองพร้าวติดกับแหลมไชยเชษฐ์ มีแหลมหินที่ทัศนียภาพสวยงาม แต่ไม่สามารถเล่นน้ำได้
สถานที่พัก ทางอุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว บริเวณที่ทำการคลองสน จำนวน ๙ ห้อง พักได้ ๒-๖ คน ราคา ๘๐๐-๒,๕๐๐ บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๓๙๕๕ ๕๐๘๖ หรือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๕๖๒ ๐๗๖๐ www.dnp.go.th
การเดินทางบนเกาะ จากท่าเรือมีรถสองแถวไปยังหาดทรายขาว คลองพร้าว ไก่แบ้ อัตราค่ารถ ๓๐ บาท ส่วนหาด อื่น ๆ ต้องเหมา และตกลงราคาก่อนเดินทาง
• เกาะช้างน้อย และ แหลมช้างน้อย อยู่ทางด้านเหนือของเกาะช้าง บริเวณท้องน้ำระหว่างแหลมช้างน้อยกับเกาะช้างน้อยจะมีแนวปะการังอยู่ด้วย
เกาะมันนอก-เกาะมันใน เป็นเกาะเล็ก อยู่ตรงข้ามหาดไก่แบ้ เมื่อน้ำลดจะมีหาดอยู่รอบ ๆ เกาะ ท้องน้ำบริเวณเกาะ มันนอก-เกาะมันใน ค่อนข้างตื้น และมีสาหร่ายสีทองขึ้นเป็นจำนวนมาก
• เกาะคลุ้ม เหมาะสำหรับการตกปลา มีทัศนียภาพแปลกตาของลานหิน คือ หินลูกบาต และหินลาดหลังคุ้ม
• เกาะเหลายา อยู่ทางตอนใต้ของเกาะช้าง ประกอบด้วยเกาะเหลายาใน เกาะเหลายากลาง และเกาะเหลายานอก ใช้เวลาเดินทางจากแหลมงอบประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง เป็นเกาะที่มีหาดทรายยาว น้ำทะเลใส และแนวปะการังสวยงาม บนเกาะมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
• เกาะหวาย อยู่ทางใต้ของเกาะช้าง ใกล้กับเกาะเหลายา ใช้เวลาเดินทางจากแหลมงอบประมาณ ๒ ชั่วโมงครึ่ง แนวชายหาดสวยงาม มีแนวปะการังขนาดใหญ่ และสมบูรณ์เหมาะกับการตกปลา อ่าวด้านเหนือของเกาะเป็นแหล่งที่มีแนวปะการังสมบูรณ์สูง ด้านตะวันตกของอ่าวใหญ่มีปะการังซึ่งส่วนมากเป็นปะการังก้อน ปะการังเขากวาง ปะการังแผ่น และปะการังพุ่ม นอกจากนั้นยังมีหอยมือเสืออีกด้วย บนเกาะมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว
• การเดินทาง ไปเกาะหวายมีเรือออกจากที่ท่าเรือแหลมงอบ เวลา ๑๕.๐๐ น. ถึงเวลา ๑๗.๐๐ น. เที่ยวกลับ มีเรือออกจากท่าเรือเกาะหวายพาราไดซ์ เวลา ๐๘.๐๐ น. ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมง อัตราค่าโดยสารคนละ ๑๓๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๓๙๕๓ ๘๑๒๒
• เกาะพร้าวนอก หรือ เกาะทรายขาว อยู่ทางทิศใต้หน้าอ่าวสลักเพชร ใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือแหลมงอบประมาณ ๒ ชั่วโมง เป็นเกาะที่มีหาดขาวทรายสะอาด และร่มรื่นด้วยต้นมะพร้าว บนเกาะมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว
• เกาะง่าม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะช้าง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาแฝด ๒ เกาะติดกัน โดยมีสันทรายขนาดใหญ่เชื่อมตรงกลาง มีอ่าวขนาดเล็กที่เกิดจากแนวเขาที่โอบล้อมน้ำทะเลไว้ จึงเป็นบริเวณที่คลื่นลมสงบ และสวยงาม
• การเดินทาง จากแหลมงอบใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง บนเกาะมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว

ข้อมูลท่องเที่ยว กิ่งอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด

กิ่งอำเภอเกาะกูด
เกาะกูด เป็น เกาะที่อยู่สุดท้ายทางทิศตะวันออกของประเทศไทยในน่านน้ำทะเลตราด และมีความใหญ่เป็นอันดับ ๒ รองจากเกาะช้างในจังหวัดตราด หรือเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ ๔ ของประเทศ ระยะทางห่างจากตัวเมืองตราด ๘๐ กิโลเมตร มีเนื้อที่ ๑๐๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๖๕,๖๒๕ ไร่ โดยมีขนาดความยาวของเกาะ ๒๕ กิโลเมตร และขนาดความกว้าง ๑๒ กิโลเมตร ลักษณะโดยทั่วไปของเกาะยังคงสภาพความเป็นธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ โดยมีภูเขา และที่ราบสันเขาซึ่งเป็นต้นกำเนิด ลำธาร สายน้ำ ทำให้เกาะกูดมีน้ำตกหลายแห่ง แต่ที่ขึ้นชื่อบนเกาะกูด คือ น้ำตกคลองเจ้า จะมีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีทั้งหมด ๓ ชั้น โดยชั้นบนจะมีลักษณะเป็นลำธาร ส่วนชั้นล่างเป็นลำธารจากน้ำตกขนาดใหญ่ ซึ่งเหมาะแก่การเล่นน้ำอย่างมาก น้ำตกแห่งนี้ถือว่าเป็นน้ำตกประวัติศาสตร์ คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงพระราชทานนามว่า “น้ำตกอนัมก๊ก” เพื่อเป็นที่ระลึกถึงองค์เชียงสือกษัตริย์ญวนที่เคยเข้ามาลี้ภัยจากการจราจล ในสมัยรัชกาลที่ ๑
ทางฝั่งตะวันตกของเกาะตั้งแต่อ่าวตาติ้น หาดคลองยายกี๋ แหลมหินดำ หาดคลองเจ้า หาดง่ามโข่ แหลมบังเบ้า หาดอ่าว พร้าว ไปจนสุดปลายแหลมเทียน และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางฝั่งตะวันออกที่น่าสนใจ ได้แก่ อ่าวสับปะรด แหลมศาลา อ่าวยายเกิด อ่าวคลองหิน อ่าวจาก ล้วนแต่เป็นหาดที่มีหาดทรายสวยงาม และน้ำทะเลใส มีธรรมชาติสงบเงียบ ร่มรื่นด้วยทิวมะพร้าวริมหาด นอกจากนี้บนเกาะกูดยังมีป่าชายเลนที่สมบูรณ์ แนวปะการังนานาชนิดและปลาทะเลสีสันสวยงาม ในบริเวณทะเลด้านในของตัวเกาะรวมทั้งเกาะแรด และเกาะไม้ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเกาะกูด
ชนพื้นถิ่นดั้งเดิมของเกาะกูดส่วนใหญ่เป็นคนไทย และคนเขมรในเกาะกงที่อพยพเข้ามาเมื่อเมืองปัจจันตคีรีเขตรตกเป็นเมืองขึ้น ของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ หมู่บ้านคลองมาดเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุด ปัจจุบันชาวเกาะยังดำรงชีพด้วยเกษตรกรรม ทั้งทำสวนยางพารา สวนมะพร้าว สวนผลไม้เพียงเล็กน้อย และทำประมงชายฝั่ง บนเกาะมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
การเดินทาง ไปเกาะกูดยังไม่มีเรือโดยสารประจำทางบริการนักท่องเที่ยวโดยตรง นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการได้จาก บริษัท เกาะกูด ซีทรานส์ จำกัด โทร. ๐ ๓๙๕๙ ๗๖๔๖, ๐ ๑๔๔๔ ๙๒๕๙ อัตราค่าโดยสารไป-กลับ คนละ ๗๐๐ บาท ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมง ๓๐ นาที มีเรือออกจากท่าเรือแหลมงอบ (ท่าเทียบเรือกระโจมไฟ) วันอังคาร วันศุกร์และวันเสาร์ เวลา ๐๙.๐๐ น. ถึงเกาะกูดเวลา ๑๑.๓๐ น.
เกาะหมาก เป็นเกาะขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างเกาะช้างกับเกาะกูด ห่างจากฝั่งประมาณ ๓๘ กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๙,๐๐๐ ไร่ มีรูปร่างคล้ายดาวสี่แฉก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายฝั่งทะเล หนาแน่นด้วยสวนมะพร้าวและสวนยางพารา โดยรอบมีอ่าว ชายหาดที่สวยงาม และน้ำใสสะอาดหลายแห่ง เช่น บริเวณอ่าวตานิด อ่าวไผ่ อ่าวโปร่ง อ่าวผาด อ่าวแดง บริเวณชายฝั่งรอบเกาะและเกาะใกล้เคียงจะพบแนวปะการังที่สมบูรณ์ และสวยงาม บนเกาะมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ช่วงฤดูท่องเที่ยวเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤษภาคม
การเดินทาง ไปเกาะหมาก เที่ยวไป มีเรือโดยสารออกจากท่าเรือกรมหลวงชุมพรฯ นักท่องเที่ยวควรมาถึงท่าเรือก่อนเวลา ๑๕.๐๐ น. ถึงท่าเรืออ่าวนิด เวลา ๑๙.๐๐ น. ใช้เวลาในการเดินทาง ๓ ชั่วโมงครึ่ง เที่ยวกลับ มีเรือออกจากท่าเรืออ่าวนิด เวลา ๐๘.๐๐ น. ถึงท่าเรือแหลมงอบ เวลา ๑๑.๓๐ น. อัตราค่าโดยสารคนละ ๒๕๐ บาท ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๓๙๕๓ ๘๑๒๒, ๐ ๙๖๐๕ ๗๘๐๗ บริษัท เกาะกูด ซีทรานส์ จำกัด มีเรือจากจากท่าเรือแหลมงอบ (ท่าเทียบเรือกระโจมไฟ) ไปเกาะหมาก เรือออกจากท่าเรืออ่าวนิด เที่ยวไป เรือออกเวลา ๐๙.๐๐ น. ถึงอ่าวนิด เวลา ๑๐.๓๐ น. เที่ยวกลับ เรือออกจากเกาะกูดใช้เวลามาถึงอ่าวนิด ๑ ชั่วโมง อัตราค่าโดยสารคนละ ๕๕๐ บาท ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๓๙๕๙ ๗๖๔๖, ๐ ๑๔๔๔ ๙๒๕๙ และ บริษัท เกาะหมาก เอ็กซ์เพรส จำกัด มีเรือโดยสารเป็นเรือแอร์ ออกจากท่าเรือกรมหลวงชุมพรฯ ทุกวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ เที่ยวไป เวลา ๐๙.๐๐ น. ถึงเกาะหมาก เวลา ๑๐.๓๐ น. (เรือจอดที่เกาะหมากรีสอร์ท) เที่ยวกลับ เวลา ๑๓.๓๐ น. ถึงท่าเรือกรมหลวง เวลา ๑๕.๐๐ น. อัตราค่าโดยสารคนละ ๔๐๐ บาท ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๓๙๕๙ ๗๒๙๖, ๐ ๔๑๖๖ ๒๔๑๙
เกาะกระดาด ตั้ง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะหมาก มีพื้นที่ประมาณ ๑,๒๐๐ ไร่ เป็นเกาะกลางทะเลกว้างที่มีสัณฐานแบนราบราวกับแผ่นกระดาษ มีต้นกระดาดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่า “เกาะกระดาด” นับเป็นเกาะเดียวในประเทศไทยที่มีการออกโฉนดถูกต้องตามกฏหมาย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เนื่องจากฝรั่งเศสได้เข้ามาล่าอาณานิคมในแถบเอเชียอาคเนย์ และพยายามยึดครองดินแดนของไทย เกาะกระดาดก็เป็นที่หมายหนึ่งของฝรั่งเศสด้วย รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกโฉนดที่ดินของเกาะขึ้น ลักษณะโดยทั่วไปของเกาะมีหาดทรายยาวขาวสะอาด มีแนวปะการังที่สวยงามตลอดชายฝั่ง บนเกาะมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว คือช่วงเดือนตุลาคม-พฤษภาคมเพราะมีคลื่นลมน้อยที่สุด และเกาะกระดาดเป็นเกาะที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน UNSEEN THAILAND
การเดินทาง ไปเกาะกระดาดยังไม่มีเรือโดยสารประจำทางบริการนักท่องเที่ยวโดยตรง นักท่องเที่ยวจะต้องซื้อแพ็กเกจทัวร์ของเกาะกระดาด รีสอร์ท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. ๐ ๑๔๓๒ ๘๐๒๗ กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๓๖๘ ๒๖๗๕, ๐ ๒๓๖๘ ๒๖๓๔ ใช้เวลาเดินทางจากแหลมงอบประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง
เกาะขาม เป็นเกาะเล็กๆ อยู่ใกล้กับเกาะหมาก ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมงจากแหลมงอบ สิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนเกาะขาม คือ สภาพธรรมชาติที่สวยงาม บรรยากาศที่เงียบสงบ ร่มรื่น น้ำทะเล และหาดทรายใสสะอาด ด้านตะวันออกของเกาะยังมีแนวปะการังที่สวยงามและเหมาะแก่การดำน้ำ บนเกาะมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว
• การเดินทาง ไปเกาะขาม มีเรือโดยสารประจำทางออกจากท่าเรือแหลมงอบ เที่ยวไป ออกเวลา ๑๕.๐๐ น. ถึงเกาะขาม เวลา ๑๘.๐๐ น. ใช้เวลาในการเดินทาง ๓ ชั่วโมง เที่ยวกลับ ออกจากเกาะขาม เวลา ๐๘.๐๐ น. ถึงท่าเรือแหลมงอบ เวลา ๑๑.๐๐ น. อัตราค่าเรือโดยสารคนละ ๒๑๐ บาท ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๑๒๑๒ ๑๘๑๔, ๐ ๑๓๐๓ ๑๒๒๙, ๐ ๑๙๑๖ ๖๕๓๖
หมู่เกาะระยั้ง ประกอบด้วย เกาะระยั้งใน และเกาะระยั้งนอก สภาพโดยทั่ว ๆ ไปของเกาะระยั้งนอกเป็นเกาะที่เงียบสงบ หาดทรายขาว น้ำใสสะอาด มีที่พักบนเกาะระยั้งนอกเพียงแห่งเดียว
หมู่เกาะกระ เป็นเกาะขนาดเล็กตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะหมาก เป็นเขตสัมปทานรังนกนางแอ่น และเป็นแหล่ง ดำน้ำดูปะการังที่สวยงาม
หมู่เกาะรัง เป็นเกาะขนาดเล็กอยู่ห่างจากเกาะหมากไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๖ กิโลเมตร บนเกาะไม่มีที่ราบพอที่คนจะอาศัยอยู่ได้ มีเฉพาะที่ราบหน้าหาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น บริเวณรอบๆ หมู่เกาะรังมีเกาะน้อยใหญ่อยู่จำนวนมาก ได้แก่ เกาะรังใหญ่ เกาะรังเล็ก เกาะกระ เกาะเทียน เกาะทองหลวง เกาะยักษ์ เกาะสามพี่น้อง เกาะมะปริง เกาะตุ๊น และเกาะกำปั่น เป็นต้น ซึ่งเกาะต่าง ๆ เหมาะแก่การดำน้ำดูปะการังท่ามกลางฝูงปลาแหวกว่าย
การเดินทาง ไปหมู่เกาะรัง และหมู่เกาะกระ ไม่มีเรือโดยสารประจำทางที่วิ่งบริการนักท่องเที่ยวโดยตรง นักท่องเที่ยวจะต้องเช่าเหมาเรือจากแหลมงอบ ราคาประมาณ ๕,๐๐๐-๘,๐๐๐ บาท/วัน ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ

การเดินทางไปเที่ยวเกาะต่าง ๆ
• ที่อำเภอแหลมงอบ มีท่าเรือที่สามารถโดยสารไปยังเกาะช้างและหมู่เกาะต่าง ๆ ได้แก่
- ท่าเทียบเรือแหลมงอบ เป็นเรือโดยสารที่ใช้เรือประมงนำมาดัดแปลง ไปขึ้นที่ เกาะช้าง บริเวณบ้านด่านเก่า ค่าเรือโดยสาร ๕๐ บาท ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที มีเรือออกทุกชั่วโมง ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. เรือกลับจากเกาะช้างมีหลายเที่ยว ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐-๑๖.๐๐ น. ส่วนการไป เกาะหมาก เที่ยวไป มีเรือออกจากท่าเรือแหลมงอบ เวลา ๑๕.๐๐ น. ถึงอ่าวนิดเวลา ๑๘.๐๐ น. ใช้เวลาในการเดินทาง ๓ ชั่วโมงครึ่ง เที่ยวกลับ มีเรือออกจากท่าเรืออ่าวนิด เวลา ๐๘.๐๐ น. ถึงแหลมงอบ เวลา ๑๑.๓๐ น. อัตราค่าโดยสารคนละ ๒๑๐ บาท และการไป เกาะหวาย มีเรือออก เวลา ๑๕.๐๐ น. ถึงเวลา ๑๗.๓๐ น. ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง อัตราค่าโดยสารคนละ ๑๕๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๓๙๕๓ ๘๑๒๒
นอกจากนั้นบริเวณท่าเรือยังมีตัวแทนรับจองห้องพักของรีสอร์ทต่าง ๆ ตั้งอยู่ และนักท่องเที่ยวสามารถหาเรือเช่า (เรือประมงดัดแปลงขนาดเล็กจุได้ประมาณ ๑๐ คน) ไปเกาะช้าง และเกาะอื่น ๆ ในอัตราวันละประมาณ ๓,๕๐๐-๕,๐๐๐ บาท หรือติดต่อห้องอาหารแสงจันทร์ ๙๙/๓ หมู่ ๑ ชายทะเลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โทร. ๐ ๓๙๕๙ ๗๑๙๗, ๐ ๓๙๕๙ ๗๒๙๙
- ท่าเรือเกาะช้างอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีเรือเฟอร์รี่ไปเกาะช้าง เรือออกจากท่าอ่าวธรรมชาติ เที่ยวไป ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐–๑๙.๐๐ น. เที่ยวกลับ มีเรือออกจากอ่าวสัปปะรด เวลา ๐๘.๐๐–๑๙.๐๐ น. เรือจะออกทุก ๆ ๓๐ นาที ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๔๕ นาที อัตราค่าโดยสาร นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะข้ามไปเกาะช้างแบบไป-กลับ ราคา ๖๐ บาท และสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะนำรถยนต์ พร้อมคนขับข้ามไปเกาะช้างแบบไป-กลับ ราคา ๑๕๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๓๙๕๒ ๘๒๘๘-๙, ๐ ๓๙๕๙ ๗๑๔๓
บริเวณท่าเรือมีรถตู้บริการไปพัทยา ๔๐๐ บาท, ท่าเรือเกาะเสม็ด ๒๕๐ บาท และถนนข้าวสาร ๒๒๐ บาท
- ท่าเรือเซ็นเตอร์พอยท์ มีเรือเฟอร์รี่ไปเกาะช้าง เรือออกจากแหลมงอบ เที่ยวไป ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐–๑๘.๐๐ น. เที่ยวกลับ มีเรือออกจากท่าเรือด่านเก่า คาบาน่า เวลา ๐๖.๐๐–๑๙.๐๐ น. อัตราค่าโดยสาร นักท่องเที่ยว และคนขับที่ต้องการจะข้ามไปเกาะช้างแบบไป-กลับ ราคาคนละ ๑๐๐ บาท รถยนต์ ๔ ล้อ ไป-กลับฟรี ใช้เวลาในการเดินทาง ๔๕ นาที สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๓๙๕๓ ๘๑๙๖
- นอกจากนี้ที่อำเภอคลองใหญ่มีท่าเรือประมงหลายแห่ง สามารถเช่าเรือไปเกาะใกล้ ๆ ได้ทุกวัน ได้แก่ เกาะกูด เกาะกระดาด และเกาะหมาก

ข้อมูลงานประเพณี : สินค้าพื้นเมือง : ของฝาก จังหวัดตราด

เทศกาลงานประเพณี
งานวันวีรกรรมทหารเรือไทยในยุทธนาวีที่เกาะช้าง จัดขึ้นวันที่ ๑๗-๒๑ หรือ ๒๓ มกราคม บริเวณอำเภอแหลมงอบ และเกาะช้างเป็นประจำทุกปี เพื่อระลึกถึงการทำยุทธนาวีของกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และมีการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารเรือไทยที่ได้สละชีพปกป้องแผ่นดินไทยในครั้งนั้น ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการของกองทัพเรือ และส่วนราชการต่าง ๆ มีมหรสพสมโภชน์ตลอดงาน
งานวันตราดรำลึก จัดขึ้นวันที่ ๒๓-๒๗ มีนาคมของทุกปี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองเมืองตราด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินวิเทโศบายทางการเมืองระหว่างประเทศด้วยพระปรีชาสามารถ จนในที่สุดฝรั่งเศสยอมทำสัญญายกเมืองตราดคืนให้แก่ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๔๙ ในงานนี้จะมีริ้วขบวนเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองตราด การประกวดสุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน การจำหน่ายสินค้า และผลิตภัณฑ์การเกษตร การแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน และความบันเทิงอีกหลายรูปแบบ
• งานผลไม้และของดีเมืองตราด จัดขึ้นประมาณปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัด ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ การออกร้านจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์การเกษตร มีการประกวดผลไม้ต่าง ๆ และผลไม้แปรรูป การแข่งขันกินผลไม้ และมีการแสดงมหรสพตลอดงาน

สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก
พลอยแดง จังหวัดตราด เป็นแหล่งของพลอยแดงน้ำงามที่มีชื่อเสียงโด่งดังในนาม “ทับทิมสยาม” แต่ปัจจุบันแร่พลอยเริ่มหมดไป ทับทิมสยามจึงกลายเป็นสิ่งที่หายาก
งอบน้ำเชี่ยว เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวชุมชนน้ำเชี่ยวสืบทอดกันมานาน ตัวงอบทำด้วยใบจาก มีรูปทรงต่างจากงอบแหล่งอื่น คือเหมือนกระทะคว่ำและหมวกทหารสมัยโบราณ มีแหล่งผลิตและจำหน่ายอยู่ที่ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ
ระกำหวาน ตราดมีผลไม้หลากหลายชนิด แต่ผลไม้ที่มีชื่อที่สุดของตราด คือ “ระกำหวาน” ระกำหวานของตราด เป็นระกำที่มีรสชาติหวานหอมเมื่อแก่จัด เป็นที่นิยมของนักบริโภคระกำมาก
สับปะรดตราดสีทอง สับปะรดพันธุ์นี้จะไม่เหมือนพันธุ์อื่นตรงที่มีรสชาติหวาน กรอบทั้งผล โดยเฉพาะผิวเป็นตา ๆ สีเหลือง เย็นฉ่ำน่ารับประทาน
ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ได้แก่ ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ อาหารแปรรูปจากทะเล สามารถหาซื้อได้จากตลาดในตัวเมือง บริเวณท่าเรือแหลมงอบ
น้ำมันเหลือง เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ผลิตใช้กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีสรรพคุณเป็นสารหอมระเหย ใช้ทาถูนวด บรรเทาอาการเคล็ด ขัดยอก สูดดมแก้วิ่งเวียน แก้หวัดคัดจมูก ปัจจุบันมีผู้ผลิตจำหน่ายหลายราย
สุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน มีลักษณะพิเศษ คือ มีอาน หรือขวัญบนแผ่นหลัง มีความฉลาด และซื่อสัตย์
• ไก่ชนพื้นเมือง เป็นไก่พันธุ์ที่เลื่องชื่อในด้านการชนไก่ในจังหวัดตราด เนื่องจากมีชั้นเชิง จังหวะต่าง ๆ ในการชนไก่ที่เยี่ยม

ร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก
อำเภอเมือง
ครัวอีสาน หนองบัว ติดถ.สุขุมวิท ต.วังกระแจะ โทร. ๐ ๓๙๕๓ ๒๒๕๙ (จำหน่ายกะปิ น้ำปลา)
ซันเดย์ ๑๔๑ ถ.สุขุมวิท โทร. ๐ ๓๙๕๓ ๐๐๘๐, ๐ ๓๙๕๓ ๑๓๒๕ (จำหน่ายผลไม้กวน ผลไม้สด งอบ เสื่อ กะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง)
น้ำมันเหลืองสมถวิล (ฮั้งกี้) ๕ ถ.ราษฎร์อุทิศ โทร. ๐ ๓๙๕๑ ๑๙๓๕, ๐ ๓๙๕๓ ๑๔๓๐ กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๓๓๑ ๘๑๙๙ (จำหน่ายน้ำมันเหลือง)
น้ำมันเหลืองแดงตราด (ไผ่สีสุก) ถ.สุขุมวิท โทร. ๐ ๓๙๕๑ ๑๓๕๘
น้ำมันเหลืองโกลด์ครอส ถ.สุขุมวิท โทร. ๐ ๓๙๕๑ ๑๓๗๕
บะหมี่-เกี๊ยวหนองบัว ๑๒๑-๑๒๓ ถ.สุขุมวิท ต.วังกระแจะ ติดธนาคารทหารไทย โทร. ๐ ๓๙๕๒ ๐๘๑๗,
๐ ๓๙๕๒ ๑๑๘๙ (จำหน่ายกุ้งแห้ง น้ำปลา กะปิ ปลาแห้ง)
วิบูลย์ชัย ๑๓๔ ถ.โภคไพร โทร. ๐ ๓๙๕๑ ๑๓๒๖ (โรงงานผลิตน้ำปลา)
แสงเจริญการพลอย ๔๒-๔๖ ซ.สุขุมวิท โทร. ๐ ๓๙๕๑ ๑๓๘๐ (จำหน่ายพลอยแดง พลอยเหลือง)
อำเภอแหลมงอบ
เกาะช้างซูวิเนีย ๑๐๑/๑๔ ต.แหลมงอบ
เจ๊น้อย ๑๒๓/๑ ม.๑ ซ.สุขาภิบาล ๒ ต.แหลมงอบ โทร. ๐ ๓๙๕๙ ๗๐๓๐, ๐ ๓๙๕๙ ๗๑๓๐ (จำหน่ายกุ้งแห้ง น้ำปลา กะปิ ปลาแห้ง)
พรพิมล ๒๔/๔ ต.แหลมงอบ โทร. ๐ ๓๙๕๙ ๗๐๕๐, ๐ ๓๙๕๙ ๗๑๑๑ (จำหน่ายกุ้งแห้ง น้ำปลา กะปิ ปลาแห้ง)
อรุณี ๖๑/๑ ม.๕ ถ.ตราด-แหลมงอบ โทร. ๐ ๓๙๕๒ ๐๒๖๐ (โรงงานผลิตน้ำปลา)
กิ่งอำเภอเกาะช้าง
หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ต.เกาะช้างใต้ โทร. ๐ ๓๙๕๕ ๕๐๓๕, ๐ ๖๑๕๘ ๒๖๙๓ (อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว)

กิจกรรมที่น่าสนใจ
• แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
จังหวัดตราดมีผลไม้ขึ้นชื่อและออกผลตามฤดูกาล ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง กระท้อน ระกำ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมและซื้อผลไม้ได้โดยตรงที่สวนผลไม้ดังต่อไปนี้
บุญศรี สลักเพชร ต.เกาะช้างใต้ กิ่ง อ.เกาะช้าง โทร. ๐ ๓๙๕๕ ๓๐๓๙ (สวนมังคุด ทุเรียน เงาะ ลองกอง)
สำเนา เป็ดแก้ว ม.๒ ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง โทร. ๐ ๓๙๕๒ ๔๗๑๕, ๐ ๙๕๔๒ ๘๙๒๕ (สวนเงาะ มังคุด สละ)
อื๊ด ถือสัตย์ ๒๑ ม.๒ ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง โทร. ๐ ๓๙๕๒ ๔๗๕๘, ๐ ๑๗๕๖ ๕๓๘๖ (สวนมังคุด ทุเรียน เงาะ ลองกอง กระท้อน)
ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ที่ ๑ (ตราด) ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ต.ห้วงน้ำขาว อำเภอเมือง อยู่ในเขตพื้นที่ป่าชายเลนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำตราด มีพื้นที่ ๗,๕๐๐ ไร่ เป็นศูนย์ผลิตและรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลนสำหรับปลูกเพิ่มเติมในป่าเสื่อม โทรมตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน ภายในศูนย์ฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเป็นสะพานปูนเดินลัดเลาะเข้าไปในป่าชายเลน ระยะทาง ๔๐๐ เมตร ตลอดเส้นทางมีพันธุ์ไม้ชายเลนนานาชนิดให้ชมพร้อมมีป้ายชื่อบอก และนอกจากนี้ยังได้รู้จักนกชนิดต่าง ๆ ปลาตีน ปูก้ามดาบ เป็นต้น



หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 039)

สำนักงานจังหวัดตราด

039-511-282

ประชาสัมพันธ์จังหวัด

039-511-998

สถานีเดินรถ บขส.

039-532-127

สถานีเดินรถโดยสารประจำทาง

039-511-986

ไปรษณีย์เมืองตราด

039-511-175

สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมือง

039-511-239

สถานีตำรวจภูธร อำเภอคลองใหญ่

039-581-115

สถานีตำรวจภูธร อำเภอแหลมงอบ

039-597-033

สถานีตำรวจภูธร กิ่งอำเภอเกาะช้าง

039-586-191, 039-586-250

โรงพยาบาลตราด

039-511-040-1, 520-216

โรงพยาบาลแหลมงอบ

039-597-040, 597-047

โรงพยาบาลบ่อไร่

039-591-040

โรงพยาบาลคลองใหญ่

039-581-044 , 039-581-116

โรงพยาบาลกรุงเทพฯ-ตราด

039-532-735

โรงพยาบาลกิ่งอำเภอเกาะช้าง

039-586-130

ตำรวจท่องเที่ยวแหลมงอบ

039-597-255, 039-597-259-60

ททท. สำนักงานภาคกลาง เขต5

039-597-255, 597-259-60

ด่านตรวจคนเข้าเมืองแหลมงอบ

039-597-261

ด่านตรวจคนเข้าเมืองคลองใหญ่

039-588-108

จุดตรวจด่านชายแดนบ้านหาดเล็ก

039-588-084

สถานีตรวจอากาศ อำเภอคลองใหญ่

039-581-276

0 ความคิดเห็น: